วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บทบาทของผู้รับจัดการขนส่ง(FREIGHT FORWARDER)กับการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศ


      การค้าระหว่างประเทศของโลกในยุคปัจจุบันเป็นยุคของการค้าเสรี คือ มีการซื้อขายสินค้าและบริการโดยยกเว้น หรือลดหย่อนการเก็บภาษีศุลกากรและการลดข้อกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุนได้อย่างเสรี การค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกซึ่งได้มีการเปิดตลาดการค้าเสรีต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งส่งผลทำให้มีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น ทั้งเป็นผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศที่เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคมีความหลากหลายส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อการแข่งขันและความอยู่รอด
     ในภาคการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ผู้ประกอบการทั้งบริษัทสายการเดินเรือ สายการบิน ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บทบาทของผู้รับจัดการขนส่งจึงมีความสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบัน เพราะเปรียบเสมือนตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งออก (Exporter) และผู้นำเข้า (Importer) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดของการส่งออกและการนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ ดังแสดงตามแผนภาพ

ภาพที่ 1 แสดงการเชื่อมโยงการดำเนินงานของผู้ส่งออก ผู้รับจัดการขนส่งและผู้นำเข้า
     โดยบทบาทหน้าที่การให้บริการกับลูกค้าของผู้รับจัดการขนส่ง (Freight Forwarder) มีดังนี้
         1. Custom Broker เป็นตัวแทนออกของให้กับผู้ส่งและผู้รับสินค้า โดยการดำเนินพิธีการด้านศุลกากร ทั้งการส่งออกนำเข้าทางเรือและทางอากาศ โดยนำระบบ Paperless ของกรมศุลกากรมาใช้เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และประหยัดในการให้บริการ
         2. Forwarding Business เป็นตัวแทนในการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ดำเนินงานในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการส่งออก หรือนำเข้า
         3. Transportation Provider เป็นตัวแทนของสายการบิน สายการเดินเรือ ในการให้บริการรับขนส่งสินค้าของลูกค้า หรือเป็นผู้ขนส่งสินค้าเองในกรณีที่เป็นทางทะเลหรือเป็นผู้รับขนส่งทางถนน
         4. Packing การให้บริการบรรจุภัณฑ์ การติดฉลาก (Label) การบรรจุสินค้ารวมถึงการหีบห่อสินค้าเพื่อใช้ในการส่งออก
         5. Warehouse ให้บริการการบริหารจัดการคลังสินค้า โดยใช้เครื่องมือทางการบริหารจัดการคลังสินค้าและแรงงานของผู้รับจัดการขนส่งสินค้า (Freight Forwarder)อาจจะเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการเองหรือร่วมกับผู้ประกอบการอื่นที่มีคลังสินค้าไว้บริการ
         6. Labor ให้บริการทางด้านแรงงานคนงาน ในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์
         7. Multimodal Transport ให้บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยการผสมผสานรูปแบบการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบจากจุดส่งสินค้า ณ ประเทศต้นทางจนถึงจุดรับสินค้า ณ ประเทศปลายทาง ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการเพียงรายเดียว และใช้เอกสาร หรือสัญญาการขนส่ง (Multimodal Transport Document) เพียงฉบับเดียว เพื่อช่วยในการลดต้นทุนของกิจการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต คลังสินค้าและการกระจายสินค้า รวมถึงยังเป็นการตอบสนองกระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
         8. Logistics Service ให้บริการบริหารห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจร โดยครอบคลุมการกิจกรรมทางโลจิสติกส์ รวมไปถึงการกระจายสินค้า
         9. Business Consultant ให้บริการในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการส่งออกและนำเข้า
      จะเห็นได้ว่า บทบาทหน้าที่การให้บริการของผู้รับจัดการขนส่ง (Freight Forwarder)ครอบคลุมทุกกิจกรรมทางโลจิสติกส์ (Logistics Activities) และยังช่วยตอบสนองการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้ครบวงจรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การปรับตัวและการพัฒนาคุณภาพในการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ในการลดต้นทุน ลดเวลาการส่งมอบสินค้า รักษาส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) รวมถึงการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) จึงเป็นสิ่งที่ผู้รับจัดการขนส่ง (Freight Forwarder) ต้องพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้อย่างยั่งยืน
* อ้างอิงจาก เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง ธุรกิจผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดย รศ. สุพจน์ ชววิวรรธน
ที่มา สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น, มี.ค. 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น