วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ประชาคมเศรษฐกิจกลุ่มอาเซียน

ประชาคมเศรษฐกิจกลุ่มอาเซียน
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)

              แต่เดิมนั้น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ยังเป็นเพียงกรอบความตกลงทางการค้า จากเวทีการเจรจาของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมุ่งเน้นเพียงความร่วมมือทางการค้า เพื่อชะลอการเปิดเสรีฯ ซึ่งสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป พยายามจะรุกเข้ามาในตลาดของภูมิภาคนี้ การรวมกลุ่มกันเพื่อความเข้มแข็งจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างยาวนาน ของอาเซียน มีการส่งเสริมความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในหลายระดับ จึงได้พัฒนาต่อยอดเป็นมากกว่าเรื่องทางการค้า หรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังวางรากฐานที่จะเปิดประตูไปสู่ความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันในมิติทางสังคม การเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก และกระบวนการต่างๆ ก็เดินหน้าไปทุกขณะ แม้จะไม่เร่งรีบ แต่ก็มียุทธศาสตร์และ Road map วางไว้อย่างชัดเจน จนถึงปัจจุบันนี้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มีผลในทางปฏิบัติมากขึ้นๆ และส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะต้องปรับตัวอย่างเหมาะสม และคอยติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงแค่ข้อมูลจากส่วนราชการเท่านั้น แต่ยังต้องแสวงหาโอกาส ความร่วมมือกันของกลุ่มองค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอีกด้วย

ความเป็นมาพอสังเขป (คัดย่อจากข้อมูลของทางกระทรวงพาณิชย์)

    ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ได้ให้การรับรองและลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) ซึ่งรวมเรื่องการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลัก 3 เสาของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) โดยอีก 2 เสาหลัก คือเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง (Political and Security Pillar) และเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม (Socio-Cultural Pillar)

    โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ยังเห็นชอบให้มีการรวมตัวเป็น AEC ภายในปี ค.ศ. 2020 โดยอาเซียนจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานมีฝีมือโดยเสรีและการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีขึ้น ในการนี้ ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบให้ เร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขา เป็นสาขานำร่อง โดยมีประเทศสมาชิกรับผิดชอบในการจัดทำ Road map ในแต่ละสาขา ได้แก่

ไทย : การท่องเที่ยวและการบิน
พม่า : สินค้าเกษตรและสินค้าประมง
อินโดนีเซีย : ยานยนต์และผลิตภัณฑ์ไม้
มาเลเซีย : ยางและสิ่งทอ
ฟิลิปปินส์ : อิเล็กทรอนิกส์
สิงคโปร์ : เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และการบริการด้านสุขภาพ
     ในส่วนของไทยนั้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้เร่งรัดการจัดตั้ง AEC ให้เร็วขึ้นภายในปี ค.ศ. 2012 และเสนอว่าในการเร่งรัดการรวมตัวอาเซียนน่าจะใช้หลักการ Two Plus โดย 2-3 ประเทศที่พร้อมสามารถที่จะเปิดเสรีในภาคที่ตนมีความพร้อมไปก่อน และประเทศอื่นๆ สามารถเข้าร่วมเมื่อมีความพร้อมแล้ว ซึ่งในประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรี สิงคโปร์ ได้กล่าวสนับสนุนข้อเสนอของไทยที่ให้เลื่อนระยะเวลาในการบรรลุประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เร็วขึ้น โดยเห็นว่าน่าจะเป็นปี ค.ศ. 2015

    จากที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal AEM) เมื่อวันที่ 19-20 มกราคม 2547 ที่ยอกยาการ์ตา มอบหมายให้ SEOM เป็นผู้เจรจาเรื่องการจัดทำ Road map สำหรับสินค้าและบริการ 11 สาขาดังกล่าว

     ที่ประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 20-21 เมษายน 2547 ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้ตกลงให้จัดทำ Framework Agreement สำหรับเรื่องการรวมตัวของสินค้าและบริการ 11 สาขา เพื่อเสนอให้ผู้นำอาเซียนลงนาม และ พิธีสารสำหรับแต่ละสาขาสำหรับให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ลงนาม ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ณ เมืองเวียงจันทน์ ในเดือนพฤศจิกายน 2547 นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้กำหนดให้ปี ค.ศ. 2010 เป็น deadline สำหรับการรวมตัวของสินค้าและบริการ 11 สาขา โดยให้มีการผ่อนปรนสำหรับประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ได้

        ที่ประชุม AEM ครั้งที่ 36 ณ กรุงจาการ์ตา (3 กันยายน 2547) รับรองร่าง Road map สำหรับสินค้าและบริการ 11 สาขา ร่าง Framework Agreement for the Integration of the Priority Sectors และร่างพิธีสาร ASEAN Sectoral Integration Protocol สำหรับ Road map ทั้ง 11 สาขา ไว้ชั้นหนึ่งแล้ว และรับทราบว่าจะมีการประชุม SEOM อีกครั้งเพื่อพิจารณาสรุปผลการเจรจา Road map ในทุกสาขา นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบกับข้อเสนอที่ให้เร่งลดภาษีสินค้าใน Priority Sectors เร็วขึ้นจากกรอบ AFTA เดิม 3 ปี คือ จาก ค.ศ. 2010 เป็นปี 2007 สำหรับสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และ ปี 2015 เป็น 2012 สำหรับประเทศ CLMV โดยได้กำหนดเพดานสำหรับสินค้าทั้งหมดใน Priority Sectors ที่ไม่ต้องการเร่งลดภาษี (Negative List) ไว้ที่ 15%

    ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 21-22 กันยายน 2547 ที่กรุงเทพฯ สามารถหาข้อสรุปในสาระสำคัญของทุก Road map ได้ ทั้งนี้ กรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการร่วมที่จะใช้กับการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญทุกสาขาและมีสาระสำคัญ ได้แก่ การเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การอำนวยความสะดวกด้านการค้า และการลงทุนและการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมือในด้านอื่นๆ ดังนี้

(1) การค้าสินค้า – จะเร่งลดภาษีสินค้าใน Priority Sectors (เกษตร/ประมง/ผลิตภัณฑ์ไม้/ผลิตภัณฑ์ยาง/สิ่งทอ/ยานยนต์/อิเล็กทรอนิกส์/เทคโนโลยีสารสนเทศ/สาขาสุขภาพ) เป็น 0% เร็วขึ้นจากกรอบ AFTA เดิม 3 ปี คือ จาก 2010 เป็นปี 2007 สำหรับสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และ ปี 2015 เป็น 2012 สำหรับประเทศ CLMV โดยได้กำหนดเพดานสำหรับสินค้าทั้งหมดใน Priority Sectors ไม่ต้องการเร่งลดภาษี (Negative List) ไว้ที่ 15%

(2) การค้าบริการ – จะเร่งเปิดเสรีสาขาบริการใน Priority Sectors (สาขาสุขภาพ, e-ASEAN, ท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศ) ภายในปี ค.ศ. 2010 ทั้งนี้ ให้ใช้ ASEAN-X formula ได้

(3) การลงทุน – จะเร่งเปิดการลงทุนในรายการสงวน (Sensitive List) ภายในปี 2010 สำหรับอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ปี ค.ศ. 2013 สำหรับเวียดนามและ 2015 สำหรับกัมพูชา ลาว และพม่า ทั้งนี้ ให้ใช้ ASEAN-X formula ได้ และส่งเสริมการผลิตในอาเซียนโดยการจัดตั้งเครือข่าย ASEAN free trade zones เพื่อส่งเสริมการซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ผลิตในอาเซียน  (outsourcing) และดำเนินมาตรการร่วมเพื่อดึงดูด FDI

(4) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน – ซึ่งประกอบด้วยเรื่องต่างๆ คือ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรฐาน (standard and conformance) การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และ logistics service สำหรับการขนส่ง การอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวในอาเซียน และ การเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ และ แรงงานมีฝีมือ

(5) การส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมือในด้านอื่นๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มรายสาขาของอาเซียน 11 สาขากำหนดมาตรการร่วม ซึ่งคาบเกี่ยวกับทุกสาขาเช่นเดียวกับในกรอบความตกลงฯ และมาตรการเฉพาะสำหรับการรวมกลุ่มแต่ละสาขานั้นๆ โดยรวมอยู่ในแผนการรวมกลุ่ม (Road map) ซึ่งผนวกอยู่กับพิธีสารฯ

   ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน (Framework Agreement for the Integration of the Priority Sectors) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มรายสาขาของอาเซียน 11 ฉบับ (ASEAN Sectoral Integration Protocol) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ที่เวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2547 ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ทุกประเทศย้ำความสำคัญของการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการรวมตัวของอาเซียนให้เร็วขึ้น โดยอาจให้สำเร็จภายในปี 2555 (ค.ศ. 2012) และได้เสนอแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเร่งรัดการรวมตัว เช่น การใช้วิธีการ Two plus X ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เคยเสนอความจำเป็น และแนวทางนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ได้สนับสนุนข้อเสนอแนะของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ให้เร่งรัดการจัดตั้ง AEC ด้วย

ลักษณะของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน

    สมาคมอาเซียนมีสมาชิกทั้งสิ้น 10 ประเทศ มีประชากรทั้งสิ้น 560 ล้านคน และมีรายได้ประชาชาติรวมทั้งสิ้น 1,100 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำการค้าขายระหว่างกันปีละประมาณ 1,400 พันล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีพลังการซื้อและการทำการค้าระหว่างกันที่สำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่ง

   สมาชิกอาเซียน มีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน ประเทศที่ใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าประเทศที่เล็กที่สุดถึง 2,700 เท่า ในแง่ของประชากรประเทศที่ใหญ่ที่สุด (อินโดนีเซีย) มีประชากรมากกว่าประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุด (บรูไน ดารุสซาลาม) 580 เท่า และในแง่ของความร่ำรวย ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด (ในแง่ของรายได้ประชาชาติ/พลเมือง 1 คน บรูไน ดารุสซาลาม) ร่ำรวยกว่าประเทศที่ยากจนที่สุดถึง 145 เท่า ระดับการพัฒนาของ CSR และความต้องการของชุมชนในแต่ละประเทศก็ต่างกันโดยมีสิงคโปร์นำตามด้วยประเทศมาเลเซียและประเทศไทย

   ประเทศทั้ง 10 ต้องการสร้างตลาดให้กับสมาชิกอาเซียนเพื่อป้องกันภัยจากเศรษฐกิจที่เกิดจากตลาดหดตัวของตลาดส่งออก นอกจากนี้ในยามปกติอาเซียนต้องการค้าขายกับประชาคมยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งมีกฎเกณฑ์มากมาย สมาชิกจึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมตัวเพื่อให้มีมาตรฐานการปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับในประชาคมยุโรปและในสหรัฐอเมริกา มาตรการที่จะต้องปรับปรุงมี 7 ประการด้วยกัน คือ 1) มีการบริหารจัดการองค์กรที่ดี 2) ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน 3) ปฏิบัติต่อผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม 4) การใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน 5) ดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค 6) ไม่โกงหรือละเมิด ลิขสิทธิผู้อื่น 7) ร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม

 
CSR ในสมาคมอาเซียน

    ระดับการพัฒนาของ CSR ในแต่ละประเทศต่างกันมาก เช่น ภาคธุรกิจเอกชนในประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า ถูกควบคุมโดยกลไกของรัฐ ภาคธุรกิจดังกล่าวยังเล็กและยังไม่สามารถให้การสนับสนุนกิจกรรม CSR ได้ ประกอบกับความเข้าใจในกิจกรรม CSR ยังไม่ดีนัก ในปัจจุบันบริษัทข้ามชาติได้เข้าไปทำกิจกรรม CSR แต่ก็ยังไม่ได้รับความไว้วางใจอย่างเต็มที่* ตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะนำมาเล่าให้ฟัง คือ เมื่อปี 2547 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระกระแสรับสั่งให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้าไปช่วยทำ CSR ในประเทศกัมพูชา ADB ได้ขอให้สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนรับเป็นที่ปรึกษาโครงการและเกิดโครงการ CBIRD ขึ้นในกัมพูชา**

   ประเทศฟิลิปปินส์มีปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง แม้ว่าจะเริ่มมี CSR เมื่อปี 2493 แต่การที่รัฐบาลไม่สามารถสร้างโครงการวางแผนครอบครัวได้ ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์ยังอยู่ในสภาพยากจน เมื่อปี 2513 รายได้ประชาชาติ/คน และพลเมืองของประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศไทยเท่ากันพอดี ปัจจุบันรายได้ประชาชาติ/คนของประเทศไทยเป็น 3 เท่าของประเทศฟิลิปปินส์มีพลเมือง 87.1 ล้านคนในขณะที่พลเมืองประเทศไทยมีแค่ 62.8 ล้านคน แม้ว่า NGO ในประเทศฟิลิปปินส์จะมีมากและเข้มแข็งแต่ CSR ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก ประเทศอินโดนีเซียก็อยู่ในสภาพคล้ายกันแต่ความก้าวหน้าด้าน CSR ของอินโดนีเซียก็ไปได้ดี

ผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจต่อ CSR

   ผลกระทบต่อ CSR ขึ้นอยู่กับประเภทของ CSR และการหาทุนขององค์กร NGOCSR ที่อยู่ในลักษณะของการบริจาคหรือทำทาน (philanthropy) จะได้รับผลกระทบกระเทือนค่อนข้างมากเนื่องจาก รายได้ขององค์กรและบริษัทลดลงมาก บางกิจการถึงกับขาดทุนทำให้ผู้ถือหุ้นต้องการลดกิจกรรม CSR ลง

    CSR ประเภทที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ (ระยะยาว) ขององค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรใหญ่ๆ ที่ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อทำ CSR โดยเฉพาะ จะไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนมาก เช่น มูลนิธิ Mitsubishi หรือมูลนิธิ Bill and Melinda Gates เป็นต้น เพราะมูลนิธิเหล่านี้มีการวางแผนระยะยาว

   CSR ที่ฝังตัวอยู่ในธุรกิจขององค์กรจะ ไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนมาก เช่น บริษัทโคคา-โคลา มีแผนที่จะพัฒนาแหล่งน้ำที่ดีซึ่งเกี่ยวกับธุรกิจหลักของเขาโดยตรง โคคา-โคลาจะเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำอย่างแน่นอน

    CSR ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพลังงานทางเลือกหรือการพัฒนากลไกที่สะอาดจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และตรงกันข้ามอาจมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชาคมยุโรปเล็งเห็นอันตรายจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน

   CSR ประเภทธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการที่โปร่งใส ยุติธรรมต่อลูกค้า ลดการโกงและการละเมิดลิขสิทธิ์ จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นหากธุรกิจนั้นต้องการที่จะอยู่ต่อไปในระยะยาว

บทสรุป

  องค์กร NGO ในประเทศสมาชิกอาเซียนควรใช้เวลานี้ช่วยกันเสริมความแข็งแกร่งของ CSR นำความรู้และประสบการณ์ที่แต่ละองค์กรมาแลกเปลี่ยนกันและสนับสนุนกันในการพัฒนาที่ยั่งยืน

  การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (CSR) ในประเทศกลุ่มอาเซียนระยะนี้ (ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ เราน่าจะเน้น 4 ด้านด้วยกัน คือ 1) การสร้างความเข้าใจว่าความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจคืออะไร เป็นการสร้างภาพลักษณ์หรือน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น 2) การฝึกอบรมพนักงานในองค์กรให้เข้าใจ มีความสามารถและมีความรักในการทำกิจกรรม CSR 3) การจูงใจให้ธุรกิจเล็กหรือใหญ่ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม 4) และอย่าให้ธุรกิจลืมว่าการบริหารงานด้วยความยุติธรรมและด้วยความโปร่งใสเป็นพื้นฐานของการรับผิดชอบต่อสังคม

ประชาคมอาเซียน

   สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations: ASEAN) หรือ “อาเซียน” เป็นองค์การทางภูมิรัฐศาสตร์และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า อาเซียนมีพื้นที่ราว ๔,๔๓๕,๕๗๐ ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว ๕๙๐ ล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของชาติสมาชิกรวมกันคิดเป็นมูลค่าราว ๑.๘ ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา อยู่ในลำดับที่ ๙ ของโลก เมื่อเรียงตามผลิตภัณฑ์มวลรวม มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของอาเซียน

  อาเซียนมีจุดเริ่มต้นมาจากสมาคมอาสา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔  โดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ได้ถูกยกเลิกไป ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้มีการลงนามใน “ปฏิญญากรุงเทพ” อาเซียนได้ถือกำเนิดขึ้นโดยมีรัฐสมาชิกเริ่มต้น จำนวน ๕ ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ หลังจาก พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา อาเซียนมีรัฐสมาชิกเพิ่มขึ้นจนเป็น ๑๐ ประเทศในปัจจุบัน “กฎบัตรอาเซียน” ได้มีการลงนามเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งทำให้อาเซียนมีสถานะคล้ายกับสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น เขตการค้าเสรีอาเซียนได้เริ่มประกาศเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ซึ่งจะประกอบด้วยวิสัยทัศน์และเสาหลักของประชาคมอาเซียน ดังนี้

·วิสัยทัศน์อาเซียน 2020เพื่อกำหนดเป้าหมายว่าภายในปีค.ศ. 2020(พ.ศ. ๒๕๖๓)อาเซียนจะเป็น

๑) วงสมานฉันท์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(A Concert of Southeast Asian Nations) 

๒) หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีพลวัต (A Partnership in Dynamic Development)  

๓) มุ่งปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก (An Outward-Looking ASEAN)

๔) ชุมชนแห่งสังคมที่เอื้ออาทร (A Community of Caring Societies)  

·     ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 เสาหลัก (Pillars)ได้แก่

๑) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC)มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาภายในภูมิภาคโดยสันติวิธี และยึดมั่นในหลักความมั่นคงรอบด้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนจะ (๑) ใช้เอกสารทางการเมืองและกลไกของอาเซียนที่มีอยู่แล้วในการเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทภายในภูมิภาค รวมทั้งการต่อต้านการก่อการร้าย การลักลอบ ค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ และการขจัดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง(๒) ริเริ่มกลไกใหม่ๆ ในการเสริมสร้างความมั่นคง และกำหนดรูปแบบใหม่สำหรับความร่วมมือในด้านนี้ ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดมาตรฐานการป้องกันการเกิดข้อพิพาท การแก้ไขข้อพิพาท และการส่งเสริมสันติภาพภายหลังจากการเกิดข้อพิพาท (๓) ส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ซึ่งอาเซียนยังไม่มีความร่วมมือด้านนี้  ทั้งนี้ ความร่วมมือข้างต้นจะไม่กระทบต่อนโยบายต่างประเทศ และความร่วมมือทางทหารของประเทศสมาชิกกับประเทศนอกภูมิภาค

๒) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community: AEC)เป็นเป้าหมายด้านเศรษฐกิจหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียน  ภายหลังการลงนามจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนประชาคมเศรษฐกิจมีองค์ประกอบสำคัญคือการเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตร่วมกัน  โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า  บริการ  การลงทุน  แรงงานฝีมืออย่างเสรี และเงินลงทุนที่เสรีมากขั้น  มีความสามารถในการแข่งขันสูง  มุ่งสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียน  และการส่งเสริมการรวมกลุ่มอาเซียนเข้ากับประชาคมโลก ขนาดของตลาดอาเซียนที่ใหญ่ขึ้น มีอำนาจซื้อสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันกับภูมิภาคอื่นที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งช่วยให้ชาติสมาชิกสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์

    อาเซียนมีโครงการเชื่อมโยงเส้นทางหลวงอาเซียน การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์ ผ่านไปยัง มาเลเซีย ไทย กัมพูชา เวียดนามและสิ้นสุดที่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ การปรับมาตรฐานของเส้นทางคมนาคมทางบกและทางรถไฟให้มีมาตรฐานเดียวกันได้ส่งเสริมความร่วมมือของอาเซียนด้านการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นด้วย อาเซียนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคโดยการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) และเริ่มรวมตัวกับประเทศหรือกลุ่มคู่ค้าสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ฯลฯ ความเหนียวแน่นใกล้ชิดระหว่างกันจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อาเซียนสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากการรวมตัวกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ

    ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้า  และการบริการในสาขาที่ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น การท่องเที่ยว โรงแรมและภัตตาคาร  สุขภาพ ฯลฯ  นอกจากนี้  ยังจะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังอาเซียน  ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการต่อรองของอาเซียนในเวทีการค้าโลก  และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอาเซียนโดยรวม

๓) ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ร่วมกันในสังคมที่เอื้ออาทร ประชากรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน และมีความมั่นคงทางสังคม (Social security)  โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น (๑) การพัฒนาสังคม โดยการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่อาศัยในถิ่นทุระกันดาร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของกลุ่มต่างๆ ในสังคม  (๒)  การพัฒนาการฝึกอบรม การศึกษาระดับพื้นฐานและสูงกว่า การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างงาน และการคุ้มครองทางสังคม
(๓) การส่งเสริมความร่วมมือในด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เช่น โรคเอดส์ และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (๔) การจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (๕) การส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเขียน นักคิดและศิลปินในภูมิภาค

          ประชาคมอาเซียน จึงเป็นความท้าทายและโอกาสใหม่ของประเทศไทย ที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะมีการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มในภูมิภาค (Regional Value Chain) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และการขยายตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า ๕๙๐ ล้านคน ดังกล่าวข้างต้น
http://www.gracezone.org/index.php/knowlage/307-2009-02-21-15-31-11

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น